FASHION

ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์! ย้อนตำนาน Balenciaga กูตูริเยร์ที่ถูกขนานนามว่าเก่งที่สุดในปารีส

ย้อนตำนานไปทำความรู้จักกับกูตูริเยร์แห่งความฝันตัวจริงผู้เป็นต้นตำรับนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง เพื่อทิ้งทวนนิทรรศการจัดแสดงแบบเสื้อตระการตา Balenciaga: Shaping Fashion ณ พิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert ในกรุงลอนดอน

ย้อนตำนานไปทำความรู้จักกับกูตูริเยร์แห่งความฝันตัวจริงผู้เป็นต้นตำรับนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง เพื่อทิ้งทวนนิทรรศการจัดแสดงแบบเสื้อตระการตา Balenciaga: Shaping Fashion ณ พิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert ในกรุงลอนดอน

 

“โอตกูตูร์เปรียบเสมือนกับวงออร์เคสตราที่มีวาทยากรเอกคือ Balenciaga ส่วนพวกเราที่เหลือก็เป็นแค่นักดนตรีที่มีหน้าที่เล่นไปตามจังหวะที่เขากำหนด” นี่คือคำกล่าวของ Christian Dior นักออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงคนดังซึ่งเอ่ยถึงดีไซเนอร์ชาวสเปนอีกคนผู้มีชื่อเต็มว่า Cristóbal Balenciaga หากจับผลงานการออกแบบของกูตูริเยร์ทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน คริสเตียนก็เปรียบได้กับมัณฑนากรอันปราดเปรื่องที่มีความเชี่ยวชาญเป็นงานประดับตกแต่ง แต่สำหรับคริสโตบัลนั้นเขาคือประติมากรชั้นเลิศซึ่งมีงานสร้างสรรค์หลักเป็นการคิดค้นรูปทรงแปลกใหม่ทันสมัย ความพิเศษนี้เองทำให้คริสโตบัลได้รับการขนานนามว่าเป็นคนเก่งที่สุดในหมู่นักออกแบบกูตูริเยร์ทุกคน

 

เส้นทางแฟชั่นของกูตูริเยร์ชาวบาสก์จากประเทศสเปนเริ่มต้นด้วยการหลงรักเสื้อผ้าตั้งแต่ยังเด็ก เขาเริ่มต้นงานแฟชั่นครั้งแรกจากการเป็นผู้ช่วยฝึกหัดในร้านตัดเสื้อเล็กๆ จากนั้นจึงเปิดบูติกแห่งแรกในปี 1919 ก่อนประสบความสำเร็จและขยับขยายสู่กรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาในเวลาต่อมา ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 อาจไม่ใช่จังหวะอันสดใสเมื่อสภาพสังคมและการเมืองของสเปนตกต่ำจนเกิดการประท้วงและตามติดมาด้วยสงครามกลางเมือง ซึ่งทำให้คริสโตบัลตัดสินใจปิดห้องเสื้อบาเลนเซียก้าของเขาในบ้านเกิดทั้งหมด...เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงปารีส

 

ปกนิตยสารโว้ก ฝรั่งเศส ปี 1964 กับเสื้อคลุมผ้าโมแฮร์ทำมือ ซึ่งเป็นการคิดค้นเนื้อผ้าชนิดใหม่ระหว่างบาเลนเซียก้าและบริษัทผลิตผ้า Asher ของอังกฤษ

 

หลังจากห้องเสื้อบาเลนเซียก้าสาขา Avenue George V ในเมืองน้ำหอมเริ่มเปิดประตูต้อนรับลูกค้าในปี 1937 ไม่นาน ห้องเสื้อแห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นเฮาส์กูตูร์ราคาแพงที่เอกซ์คลูซีฟที่สุด หน้าต่างดิสเพลย์ของห้องเสื้อบาเลนเซียก้าในสมัยนั้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครก่อนจะกลายเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะของศิลปินที่ตัวดีไซเนอร์เองโปรดปราน หนึ่งในศิลปินที่บาเลนเซียก้าเชื้อเชิญมาออกแบบคือ Janine Janet ผู้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ว่า “สิ่งที่เขาขอให้ฉันทำมีแค่ 2 ข้อ ข้อแรก มันต้องเป็นตัวแทนของความหรูหรา และข้อ 2 มันต้องไม่จัดแสดงอะไรทั้งนั้นที่มีไว้ขาย”

 

ชุดกระโปรงผ้าชีฟองฉีกเป็นชิ้นๆ

 

การสั่งตัดเสื้อผ้าที่เฮาส์แห่งนี้คุณต้องก้าวผ่านประตูไม้สีน้ำตาลขนาดใหญ่ก่อนพุ่งตรงขึ้นลิฟต์บุหนังลูกวัวสีแดงสดเพื่อมุ่งสู่ชั้น 3 ของอาคารซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงแบบเสื้อควบแผนกฟิตติ้งหลักสำหรับลูกค้าทุกราย ลูกค้าคนสำคัญของห้องเสื้อแห่งนี้มีตั้งแต่สมาชิกราชวงศ์ สุภาพสตรีชั้นสูง เรื่อยไปจนถึงบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากแทบทุกวงการทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในผู้มีอุปการคุณกระเป๋าหนักที่อยู่เคียงข้างห้องเสื้อมาตลอดคือ Barbara Hutton มหาเศรษฐินีชาวอเมริกันผู้มักจะสั่งตัดชุดถึง 50 ลุคในฤดูกาลเดียวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้มีการบันทึกไว้ในสมุดบัญชีคำสั่งซื้อของห้องเสื้อบาเลนเซียก้าว่าหนึ่งในชุดราตรีที่บาบาร่าสั่งตัดสำหรับงานเต้นรำ Le Bal Oriental ซึ่ง Carlos de Beistegui มหาเศรษฐีเชื้อสายฝรั่งเศส-สเปนจัดขึ้นในปี 1951 มีมูลค่าสูงถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเทียบเป็นจำนวนเงินค่าจ้างคนงานในสมัยนั้นก็มีมูลค่ามากกว่าค่าจ้างทั้งปีที่ห้องเสื้อ Dior ต้องจ่ายให้ Yves Saint Laurent (ซึ่งในเวลานั้นได้รับค่าจ้างจากแบรนด์ในฐานะนักออกแบบหลักประมาณ 14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี)

 

ความสามารถในการสร้างสรรค์โครงสร้างและรูปทรงแปลกใหม่ถือเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้บาเลนเซียก้าแตกต่างจากห้องเสื้ออื่นๆ ในขณะที่นักออกแบบทั่วไปมักเริ่มงานออกแบบด้วยการสเกตซ์ บาเลนเซียก้ากลับเริ่มงานสร้างสรรค์จากการเลือกเนื้อผ้าก่อน จากนั้นเขาจึงคิดหาวิธีสร้างสรรค์รูปทรงที่เข้ากับพื้นผิวและลักษณะเฉพาะของวัสดุ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นนักออกแบบที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับโรงงานผลิตผ้าชั้นเลิศมากมาย จนในที่สุดจึงเกิดเป็นงานสร้างสรรค์เนื้อผ้าไหมชนิดใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติเบา คงรูป อีกทั้งยังสามารถปั้นให้เป็นโครงสร้างรูปทรงแบบใดก็ได้ คล้ายกับการปั้นงานประติมากรรม โดยเนื้อผ้าชนิดใหม่นี้มีชื่อเรียกว่าผ้าไหมกาซาร์ (Gazar) คิดค้นโดยบริษัททอผ้า Abraham Textiles ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อบาเลนเซียก้าโดยเฉพาะ

 

ชุดกระโปรงทรงบัลลูนในนิตยสารโว้ก ปี 1951 

 

โครงสร้างเสื้อหลักๆ ของบาเลนเซียก้ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากโครงสร้าง New look อันโด่งดังของคริสเตียน ดิออร์ เสื้อผ้าที่บาเลนเซียก้าสร้างสรรค์เต็มไปด้วยเทคนิคหลอกตาที่ช่วยสร้างอารมณ์ดราม่าผ่านรูปทรงหลวมใหญ่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ชายกระโปรงทรงพองซึ่งเกิดจากการเย็บจับรูดแล้วทบผ้ามามัดตรงช่วงเอวเพื่อสร้างวอลูมคล้ายบัลลูนขนาดใหญ่ตรงชายกระโปรง หรือชุดกระโปรงทรงตรงปราศจากเอวที่เปิดตัวในปี 1957 ซึ่งแม้จะถูกค่อนแคะโดยหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ของประเทศอังกฤษเมื่อตอนเปิดตัวว่า “ยากจะเซ็กซี่ในชุดกระโปรงทรงกระสอบ” แต่ชุดกระสอบหรือที่เรียกว่าแซ็ก (Sack) นี้กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและกลายเป็นต้นแบบของกระโปรงทรงเอไลน์ที่นักออกแบบทุกคนในทศวรรษ 1960 ต่างพากันนำเสนอในเวอร์ชั่นของตนเอง

 

หนึ่งในผลงานสร้างสรรค์อีกชิ้นที่โด่งดังที่สุดคืองานสร้างสรรค์ชุดแต่งงานผ้าไหมทรงโคนปี 1967 ชุดกระโปรงตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสามารถชั้นครูในการผสมผสานเทคนิคการตัดเย็บอันสลับซับซ้อนหากแลดูเรียบง่าย ความน่าสนใจของชุดแต่งงานตัวนี้คือการเย็บต่อหน้าผ้าขนาดใหญ่เพียง 2 ชิ้นเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงม้วนขอบผ้าทั้งสอง ข้างประกอบเข้ากัน แล้วจึงพับเนื้อผ้าที่เหลือเป็นตะเข็บช่วงไหล่และแขนเสื้อ โครงสร้างแนวประติมากรรมนี้ไม่ต่างจากการพับกระดาษในแบบออริกามิของประเทศญี่ปุ่น และที่สำคัญยังมีน้ำหนักเบาอย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย

 

Diana Vreeland โชว์โอเวอร์โค้ตบาเลนเซียก้าที่ตัดเย็บด้วยเทคนิคการต่อผ้าที่ตะเข็บกลางหลัง แล้วม้วนชายผ้าทั้งสองด้านมาด้านหน้าเพื่อเย็บต่อเป็นแขนและลำตัว

 

อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงอันโด่งดังของนักออกแบบนามบาเลนเซียก้าไม่ได้มาจากเสื้อผ้าที่เขาออกแบบเท่านั้น วิธีการวางตัวของเขาก็ยังแตกต่างจากนักออกแบบรายอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ Coco Chanel หรือเมอซีเยอคนดังเจ้าของแบรนด์ New look อาจตีพิมพ์รูปภาพของตนเองตามหน้านิตยสารและวารสารแฟชั่นตลอดทั้งปี แต่สำหรับบาเลนเซียก้าแล้ว การโปรโมตตนเองหรือให้สัมภาษณ์กลับเป็นสิ่งต้องห้ามที่เขาปฏิเสธมาโดยตลอด ในชีวิตการทำงานของเขามากกว่า 30 ปี มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่บาเลนเซียก้ายอมให้สัมภาษณ์อย่างจริงจังกับนิตยสาร ยิ่งไปกว่านั้น เขายังไม่เคยปรากฏตัวในตอนจบของแฟชั่นโชว์เลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งยังไม่เคยปรากฏตัวเพื่อพบปะลูกค้าของห้องเสื้อเวลาที่พวกเขามาสั่งตัดหรือฟิตติ้งชุด จนครั้งหนึ่งมีข่าวลือว่าคริสโตบัล บาเลนเซียก้าไม่มีตัวตนอยู่จริง ทั้งนี้บาเลนเซียก้าเคยเปรยกับเพื่อนสนิท Gustav Zumsteg เจ้าของบริษัทผลิตผ้าไหม Abraham Textiles ว่า “อย่าเสียเวลากับเรื่องเข้าสังคม” ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 1956 เขายังเคยปิดประตูแบนสื่อทุกสำนักไม่ให้มีสิทธิ์เห็นเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่จนกว่าเหล่าบายเออร์จะได้เห็นก่อนเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเพื่อนสนิทนักออกแบบนาม Hubert de Givenchy ก็เจริญรอยตามแบบแผนนี้ด้วยเช่นกัน

 

 

ปกนิตยสารโว้ก อังกฤษ ปี 1951

 

หากต้องการคำอธิบายที่ดีที่สุดที่สื่อให้เห็นความมหัศจรรย์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการโชว์เสื้อบาเลนเซียก้าก็ต้องฟังจากผู้ชมตัวจริงในสมัยนั้น อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กอเมริกา Diana Vreeland เขียนบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดแสดงแบบเสื้อในอดีตไว้ว่า “ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเห็นอะไร บางคนถึงกับเป็นลม และไม่น่าแปลกใจถ้าจะมีใครสักคนตัวแตกตายอยู่ตรงนั้น...ฉันยังจำโชว์หนึ่งตอนต้นทศวรรษ 1960 ได้ดี Audrey Hepburn ที่นั่งติดกันหันหน้ามาถามฉันว่าทำไมน้ำลายฉันยังไม่ฟูมปาก ฉันจึงตอบกลับไปอย่างสุภาพว่าฉันต้องนั่งสำรวมกิริยามารยาทเพราะเป็นนักสื่อสารมวลชชั้นนำ ในขณะที่ Gloria Guinness ซึ่งนั่งถัดไปไม่ไกลก็ก้นไถลลงมากองอยู่ที่พื้น ส่วนคนที่เหลือพากันทำหน้าตื่นตะลึงเหมือนหม้อน้ำเดือดปุดๆ อย่างไรอย่างนั้น”

 

ทั้งนี้การแสดงแบบเสื้อในอดีตมักกินเวลายาวนานกว่าชั่วโมงครึ่ง ไม่เหมือนแฟชั่นโชว์ในปัจจุบันที่เดินจบใน 5 นาที คริสเตียน ดิออร์เคยเขียนบันทึกอธิบายการแสดงแบบเสื้อโอตกูตูร์ในอดีตไว้ว่าโดยปกติแล้วช่วงกลางของแฟชั่นโชว์จะเป็นช่วงที่พีกที่สุดในการจัดแสดง นั่นเพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาการโชว์แบบเสื้อโครงสร้างใหม่ๆ “มันเป็นวัฒนธรรมที่เราเรียกเสื้อผ้าในส่วนนี้ว่า Trafalgars เพราะพวกมันมักจะเป็นเสื้อผ้าที่ได้รับเลือกไปลงหน้าปกนิตยสาร” ซึ่งปฏิกิริยาอันมีต่อผลงานในส่วนทราฟัลการ์สของบาเลนเซียก้านี่แหละคือสิ่งที่มิสซิสวรีแลนด์พยายามอธิบายให้เราเข้าใจในบันทึกของเธอ

 

ชุดกระโปรงผ้าไหมกาซาร์จากปี 1961 ที่มีผ้าคลุมไหล่ สามารถเลื่อนขึ้นและลงได้

 

Ernestine Carter บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Sunday Times ในสมัยนั้นยังเคยพูดถึงโชว์บาเลนเซียก้าว่า “มันเหมือนการไปโบสถ์เช้าวันอาทิตย์ที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ มันเงียบเสียจนคุณสามารถได้ยินเสียงเอี๊ยดอ๊าดของเบาะเก้าอี้เวลาขยับก้น ที่นี่ไม่มีการประกาศหมายเลขเสื้อผ้าที่จัดแสดง มีเพียงกระดาษแผ่นเล็กๆ พร้อมหมายเลขกำกับที่นางแบบถือเดินผ่านไปมาเท่านั้น ถ้าคุณโปรดปรานชุดไหนก็ต้องจดหมายเลขเหล่านั้นในสมุดจดสีขาวเล่มเล็กๆ ที่แจกก่อนโชว์เริ่ม” แต่สิ่งที่น่าสนใจและแตกต่างไม่เหมือนใครก็คือการเลือกสรรผู้แสดงแบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยกลางคน นางแบบของบาเลนเซียก้าจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงในประวัติศาสตร์ของห้องเสื้อ เพราะนี่คือเฮาส์กูตูร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องเสื้อผ้าอันสวยงาม

 

ในขณะเดียวกันก็มีชื่อเสียงเรื่องการใช้นางแบบหน้าตาอัปลักษณ์ด้วยเช่นกัน อูแบร์ เดอ จีวองชี่เคยเล่าถึงนางแบบของห้องเสื้อบาเลนเซียก้าไว้เช่นกันว่านี่คือห้องเสื้อกูตูร์ที่ใช้นางแบบหน้าตาอัปลักษณ์ที่สุดในกรุงปารีส จนมีชื่อเรียกเหล่านางแบบของบาเลนเซียก้าว่า “สัตว์ประหลาด” โดยเฉพาะ Colette นางแบบตัวเอกที่มาสเตอร์ดีไซเนอร์รายนี้โปรดปรานที่สุด มีบันทึกเกี่ยวกับโกแลตต์ผ่านบทสัมภาษณ์ของ Florette พนักงานขายคนสุดท้ายผู้ยังมีชีวิตอยู่ว่า “โกแลตต์จะปรากฏโฉมบนรันเวย์ด้วยหน้าตาขึงขังเหมือนกำลังอยากฆ่าใครสักคน ทุกครั้งที่เธอเดินไปหยุดอยู่ตรงหน้าใคร คนนั้นจะต้องตกใจกลัว” สาเหตุสำคัญที่บาเลนเซียก้าเลือกใช้นางแบบที่เป็นคนธรรมดา รูปร่างหน้าตาไม่เพอร์เฟกต์เหมือนห้องเสื้ออื่นๆ เพราะเขาชื่นชอบความท้าทายในการออกแบบเสื้อผ้าให้รูปร่างของสตรีจริงๆ ไม่ใช่รูปร่างผอมแห้งของเหล่านางแบบเช่นที่ห้องเสื้ออื่นๆ แถมครั้งหนึ่งยังเคยบอกนางแบบเมื่อเจ้าหล่อนน้ำหนักขึ้นว่า มันไม่ใช่ความผิดของเธอที่อ้วน แต่มันคือหน้าที่ของฉันต่างหากที่ต้องพยายามออกแบบเสื้อผ้าเพื่อทำให้รูปร่างของเธอสวยงามที่สุด

 

ภาพนางแบบขณะลองชุดพร้อมหมายเลขกำกับเป็นแผ่นป้ายถือในมือ

 

แต่คงไม่มีอะไรจะสามารถอธิบายความมหัศจรรย์ของชิ้นงานได้เท่ากับคำพูดจากปากคนใส่ Pauline de Rothschild หนึ่งในลูกค้าคนสำคัญของห้องเสื้อเล่าเปรียบเปรยการสวมชุดบาเลนเซียก้ากับเรือใบ เพราะมันคือเสื้อผ้าที่หาจุดสมมาตรได้อย่างสมบูรณ์แบบ ชิ้นงานจึงทิ้งตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างน่าอัศจรรย์  อีกทั้ง “เรียวขาสามารถขยับได้อย่างอิสระในขณะที่ส่วนหน้าของกระโปรงก็สะบัดพลิ้วไหวได้ตามจังหวะการก้าวเท้า การขยับตัวแต่ละครั้งถ่ายเทอากาศไปทั่วช่องว่างตามตำแหน่งต่างๆ ระหว่างร่างกายกับชุดกระโปรง ชิ้นงานจากบาเลนเซียก้าจึงดูล่องลอยอยู่ในอากาศอย่างสมบูรณ์แบบทั้งๆ ที่ความจริงนั้นโอบรอบสรีระผู้สวมอยู่”

 

แต่งานเลี้ยงย่อมต้องมีวันเลิกราเช่นเดียวกับห้องเสื้อชั้นสูงเชื้อสายสเปนแห่งกรุงปารีสรายนี้ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เมื่อเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้รับความนิยมแทนที่การสั่งตัดชุดโอตกูตูร์ในอดีต อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคและวงจรการผลิตของตลาดแฟชั่นไปตลอดกาล ด้วยเหตุนี้ในปี 1968 บาเลนซิเอก้าซึ่งมีอายุ 74 ปี จึงตัดสินใจปิดประตูห้องเสื้อชั้นสูงที่โด่งดังที่สุดในโลกของเขาแบบทึบถาวรจวบจนเขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1972 ซึ่งวารสารแฟชั่น WWD เขียนสดุดีวีรบุรุษแห่งแวดวงโอตกูตูร์รายนี้ไว้อย่างงดงาม กินใจ และชัดเจนว่า “แม้บิดาของแฟชั่นสมัยใหม่จะจากไป แต่อิทธิพลที่เขาสร้างไว้จะไม่มีวันสูญสิ้น”

 

เรื่อง: กำพล ลิขิตกาญจนกุล

ภาพ: Balenciaga, Vogue

WATCH

คีย์เวิร์ด: Balenciaga Haute Couture Couturier Fashion Designer